เจ็บส้นเท้า
อาการเจ็บตึงที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า เจ็บมากขึ้นเวลาลงน้ำหนัก มักมีอาการมากช่วงเริ่มเดิน เช่น หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือนั่งอยู่กับที่นานแล้วเริ่มออกเดิน เมื่อเดินไปสักครู่อาการเจ็บทุเลาลง แต่หากเดินมาก ยืนนานอาการเจ็บจะเริ่มเป็นมากขึ้น บางครั้งอาการอาจเป็นมากจนส่งผลให้เดินกะเผลก เสียบุคลิก ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม มักเป็นๆ หายๆ ก่อให้เกิดความรำคาญ รบกวนกิจวัตรประจำวัน
อาการดังกล่าวเกิดจากการอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ พังผืดที่ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciits) จุดเกาะเอ็นร้อยหวาย และเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles enthesitis and tendinitis) ปุ่มงอกของกระดูก ส้นเท้า (heel spur) ถุงน้ำใต้เส้นเอ็นอักเสบ (bursitis) ซึ่งอาการของแต่ละจุดจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย การซักประวัติ และการตรวจร่างกายโดยละเอียดเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยและการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงของการอักเสบพังผืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย ได้แก่
1. รูปเท้าผิดปกติ ได้แก่ ผู้ที่มีเท้าแบน (flat feet) หรือมีส่วนโค้งของฝ่าเท้าที่มากกว่าปกติ (high arch feet) จะมีความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบของพังผืดฝ่าเท้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรับน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม
2. รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การสวมรองเท้าส้นสูงยืน เดินนาน พื้นรองเท้าแข็ง รองเท้าที่มีขนาดไม่พอดี คับเกินไป
3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จากโรคอ้วนหรือการตั้งครรภ์ ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดการอักเสบมากขึ้น
4. ลักษณะการใช้งาน ที่จำเป็นต้องยืนเดินเป็นเวลานาน การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกส้นเท้า เช่น นักกีฬาวิ่ง นักเต้นรำ
5. โรคข้ออักเสบเรื้อรัง ในกลุ่มนี้มักมีอาการข้ออักเสบที่อื่นร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด
6. โรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดี จะส่งผลให้ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและพังผืดฝ่าเท้าลดลงเกิดการบาดเจ็บง่าย
หากมีอาการสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นโดย
1. ลดการใช้งาน หลีกเลี่ยงการยืน เดินนาน
2. ประคบเย็น บริเวณส้นเท้า ฝ่าเท้า ครั้งละ 20 นาที สามารถช่วยลดการอักเสบได้แต่ควรหลีกเลี่ยงการนวดฝ่าเท้าในขณะที่มีการอักเสบ เนื่องจากอาจทำให้มีการอักเสบ ช้ำมากขึ้นได้
3. ออกกำลังกายยืดเส้นเอ็น และพังผืดฝ่าเท้า
4. ปรับรองเท้าให้เหมาะสม ได้แก่ สวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ พื้นรองเท้านิ่มสบาย มีจุดรองรับน้ำหนักในส่วนโค้งของเท้า อาจใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า ความสูงของรองเท้าควรมีส้นเล็กน้อยประมาณ 1 นิ้วเพื่อช่วยลดแรงตึงของเอ็นและพังผืดฝ่าเท้า พยายามหลีกเลี่ยงการเดินโดยไม่สวมรองเท้า หรือการสวมรองเท้าแตะ
5. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด อักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
6. การลดน้ำหนักลงเพียง 2-3 กิโลกรัมจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้อย่างดี
7. ในผู้ป่วยโรคเบาหวานการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะช่วยให้ไม่เป็นเพิ่มขึ้น
หากอาการไม่ทุเลาลง อาการเป็นมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจเพิ่มเติมและการรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจจำเป็นต้องตรวจภาพรังสี เพื่อหาความผิดปกติเพิ่มเติม สิ่งที่อาจพบได้แก่ ปุ่มงอกของกระดูกส้นเท้า การอักเสบเรื้อรังและเกิดการกัดกร่อนของจุดเกาะเส้นเอ็น
หากการอักเสบเรื้อรังการรักษาที่จำเป็นต้องทำเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการรักษาเบื้องต้นดังที่กล่าวไปแล้วได้แก่
1. การฉีดสเตียรอยด์ เฉพาะที่ในจุดที่เจ็บ เพื่อลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด ซึ่งการฉีดสเตียรอยด์นี้ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และไม่ควรฉีดบ่อยกว่าทุก 6 เดือน เนื่องจากการฉีดจะมีความเสี่ยงเรื่อง การติดเชื้อหากการเตรียมไม่สะอาด และการฉีดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะ หรือบ่อยเกินไปจะส่งผลให้เส้นเอ็นบาง และขาดง่าย
2. การทำกายภาพบำบัด โดยใช้คลื่นอัตราซาวด์ เพื่อช่วยบรรเทาการอักเสบ
3. การสวมอุปกรณ์ดามข้อเท้าขณะนอนหลับเพื่อช่วยยืดเอ็น และพังผืดฝ่าเท้า มักแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังเช่น กรณีที่เกิดจากเท้าผิดรูป จะช่วยลดอาการเจ็บส้นเท้าในช่วงหลังตื่นนอนได้
4. การผ่าตัด ผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 2 ที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ในกรณีที่อาการเจ็บเป็นมากเรื้อรังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รักษาด้วยวิธีอื่นอย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการผ่าตัดขึ้นกับสาเหตุในแต่ละบุคคล เช่น การผ่าตัดเพื่อยืดเส้นเอ็น พังผืดฝ่าเท้า การผ่าตัดเพื่อกรอปุ่มงอกกระดูกส้นเท้า
การตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างในแต่ละบุคคลขึ้นกับสาเหตุ ดังนั้นการป้องกันย่อมดีที่สุด ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักให้ไม่มากเกินไป สวมรองเท้าที่พอเหมาะกับลักษณะเท้า และกิจกรรม การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการอย่างเหมาะสม จะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดี ไม่เกิดการอักเสบเรื้อรังซึ่งมีผลให้มีอาการเจ็บทรมาน รบกวนกิจวัตรประจำวันได้
พ.ท.พญ.สุดาทิพ ศิริชนะ อายุรแพทย์โรคข้อ และรูมาติซึ่ม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2