วันที่: 2013-01-26 12:42:19.0
จันทิมา ธรรมโรจน์
อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ถ้าเลือกได้ทุกคนคงเลือก ที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่คุณๆ เคยคิดกันบ้างมั้ยคะว่า ในแต่ละวันคุณต้องสูญเสียพลังงาน ไปกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยมากน้อยขนาดไหนการใช้วัสดุประเภทฉนวนกันความร้อน เป็นวิถีทางหนึ่งในการลดความสูญเสียพลังงานที่ใช้ และเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้พนังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากสามารถช่วยลดการสูญเสียความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ต้องการ
โดยธรรมชาติแล้ว ความร้อนจะเคลื่อนที่ จากที่อุณหภูมิสูง ไปยังที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเสมอ หลักการทำงานของ ฉนวนกันความร้อนก็คือ ทำหน้าที่ชะลอการเคลื่อนไหวของความร้อนนี้ ซึ่งวัสดุฉนวนกันความร้อนที่ใช้งานกันทั่วไป ได้แก่ อลูมิเนียมฟอยส์ โฟม ใยแก้ว และใยหิน แต่ก่อนที่เราจะทำการเลือกวัสดุฉนวนกันความร้อน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย เราน่าจะทำความรู้จักกัน คุณลักษณะเฉพาะของวัสดุฉนวนกันความร้อน แต่ละชนิดกันสักเล็กน้อย
วัสดุฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ ความมันวาวของผิวแผ่นฟอยล์ มีสมบัติในการสะท้อนความร้อน ข้อดีคือทนความชื้น ไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ไม่ฉีกขาดง่าย
วัสดุฉนวนแบบโฟม เช่น โฟมพอลิเอทิลีน มีข้อดีคือ สามารถคงสภาพเพิ่มได้แม้จะโดนน้ำหรือความชื้น ทนทานต่อกรดและด่าง
วัสดุฉนวนใยแก้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า "ไมโครไฟเบอร์" มีโพรงอากาศเล็กๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างเส้นใยแก้ว จะทำหน้าเก็บกักความร้อนไว้ และลดการส่งถ่ายความร้อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้โพรงอากาศเล็กๆ เหล่านั้นสามารถลดทอน พลังงานเสียงที่ผ่านเข้ามา ให้เหลือพลังงาน ที่สะท้อนออกไปน้อยลง วัสดุฉนวนใยแก้วจัดเป็น ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงที่มีประสิทธิภาพ มีความอ่อนตัว และคืนตัวดี สามารถทนไฟได้ประมาณ 300 องศาเซลเซียส ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ว่า ใยแก้วเป็นอันตราย ต่อสุขภาพหรือไม่ จึงยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป
วัสดุฉนวนใยหิน จัดเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ไม่มีสารประกอบของ แอสเบสตอส (Asbestos) จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ สมบัติในการกันความร้อน และดูดซับเสียง เทียบเท่ากับฉนวนใยแก้ว แต่สามารถทนไฟได้ดีกว่า ทั้งวัสดุฉนวนชนิดใยแก้ว และใยหิน มีข้อด้อยคือไม่ทนทานต่อความเปียกชื้น
สรุปหลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุฉนวนกันความร้อน คือ ความสามารถในการป้องกันความร้อน ช่วงอุณหภูมิการใช้งาน การเปลี่ยนรูปร่างเมื่อได้รับความร้อน การกันน้ำและความชื้น การทนต่อแมลงและเชื้อรา ความปลอดภัยต่อสุขภาพ การเสื่อมสภาพและความต้องการบำรุงรักษา เพียงเท่านี้ ก็ทำให้คุณสามารถเลือกซื้อ วัสดุฉนวนกันความร้อนที่เหมาะ และสามารถช่วยประหยัด พลังงานภายในที่อยู่อาศัยของคุณได้แล้ว ซึ่งนอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณแล้ว คุณยังได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงาน
|
|
|